วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

แนวการตอบข้อสอบกฎหมาย โดย รศ.มานิตย์ จุมปา


ผู้ที่ศึกษาวิชากฎหมายมักมีปัญหาเกี่ยวกับการตอบข้อสอบกฎหมาย  จึงขอแนะนำแนวทางการตอบ
โดย  รองศาสตราจารย์มานิตย์  จุมปา  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
     การศึกษาศาสตร์แต่ละแขนงจะมีวิธีการศึกษาเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไป การศึกษากฎหมายนั้นผู้ที่ไม่เคยศึกษา ก็มักมองกันว่าคงจะท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะกฎหมายมีจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วการศึกษาในทุกศาสตร์ ก็ต้องอาศัยความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การเรียนแพทย์ก็ต้องท่องจำอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนให้ได้ก่อนจึงจะลงมือผ่าตัดได้ การเรียนกฎหมายก็เช่นกัน "ความจำ" ก็เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการเรียน แต่ลำพังเพียงการท่องจำหาใช่วิธีการที่ถูกต้องในการเรียนกฎหมายไม่ เพราะมักปรากฏอยู่เสมอว่าผู้ที่ท่องกฎหมายได้ดังนกแก้วนกขุนทอง แต่สอบแล้ว ผลสอบออกมาปรากฏว่าสอบเกือบผ่าน (สอบตก)
      มีเรื่องเล่ากันว่าในการสอบกฎหมายวิชากฎหมายอาญาสมัยหนึ่ง กระทาชายนายหนึ่งชื่อนายสาโทได้ท่องตัวบทตามประมวลกฎหมายอาญาเตรียมตัว สอบอย่างดี โดยวัน ๆ ไม่ทำงานอะไร เอาแต่ท่องกฎหมายอย่างเดียว จนกระทั่งพ่อแม่บ่นอยู่เสมอว่าสอบตั้งหลายครั้งแล้วไม่เห็นสอบผ่านเสียที  มีแต่เกือบผ่านทุกที จนกระทั่งสอบวิชากฎหมายอาญาถึง 5 ครั้งก็ยังเกือบผ่านอยู่ดี พ่อแม่ของนายสาโทอดทนไม่ไหว และด้วยเหตุที่พ่อแม่ของนายสาโทมิได้เรียนมาทางด้านนิติศาสตร์จึงข้องใจว่า ทั้ง ๆ ที่ลูกชายของตนท่องกฎหมายได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่เหตุใดจึงสอบไม่ผ่านเสียที จึงมาพบอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายอาญา อาจารย์จึงเรียกนายสาโทมาซักถามความรู้กฎหมายแบบปากเปล่า โดยมีพ่อแม่นายสาโทนั่งฟังอยู่ด้วย โดยอาจารย์ตั้งคำถาม ถามว่า การที่คนเราฆ่าตัวตาย แต่เมื่อลงมือฆ่าตัวตาย ผลออกมาไม่ตายบุคคลนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่ ประการใด นายสาโทก็แสดงความเป็นนกแก้วนกขุนทอง โดยท่องตัวบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 โดยเสียงดังฟังชัดว่า "ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 บัญญัติว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบห้าปี" แต่พอท่องเสร็จก็นั่งอยู่เฉยไม่ตอบคำถาม อาจารย์ก็ถามย้ำคำถามเดิมอีกว่า "แล้วการที่คนเราฆ่าตัวตายแล้วไม่ตาย คนนั้นจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่" นายสาโทก็ทำท่างง ๆ เพราะฟังคำถามเทียบดูกับตัวบทกฎหมายที่ตนเองท่องออกมาแล้วเห็นว่า ไม่เห็นเหมือนกันเลย คิดตั้งนานก็ตอบไม่ได้ พ่อแม่นายสาโทมองหน้าตาลูกชายตนเองแล้วถอนหายใจยกใหญ่ แล้วจึงช่วยลูกชายตอบคำถามว่า การฆ่าตัวตายไม่ผิดกฎหมายอาญา เพราะกฎหมายจะเอาผิดแต่เฉพาะการฆ่าผู้อื่น พ่อแม่จึงเข้าใจนายสาโทว่า เหตุที่สอบไม่ผ่าน ก็เพราะมีแต่ "จำ" ขาด "ความเข้าใจ"การศึกษากฎหมายนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง  ที่ว่าเป็นศิลปะนั้นก็เพราะว่า  ไม่มีสูตรการศึกษากฎหมายที่สำเร็จรูปที่จะทำให้ผู้ศึกษากฎหมายได้รับความ สำเร็จ  เพราะวิธีการศึกษากฎหมายต้องอาศัยบริบทแวดล้อมของผู้ศึกษากฎหมายแต่ละคนเป็น ปัจจัยเสริม  ดังนั้น การศึกษากฎหมายที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการศึกษากฎหมาย ที่ผู้ศึกษากฎหมายอาจนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละคน
อนึ่ง  ผู้เขียนได้รับอิทธิพลอย่างมากในการศึกษากฎหมายจากศาสตราจารย์ ดร.หยุด  แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางกฎหมาย  ผู้เขียนหนังสือชื่อ การศึกษาวิชากฎหมาย”  โดยหนังสือดังกล่าวนี้  ผู้เขียนได้อ่านทบทวนอยู่บ่อยครั้ง  โดยเฉพาะเมื่อใกล้สอบ และสอบเสร็จแล้ว  ที่อ่านเมื่อใกล้สอบ  เพราะจะเป็นการเตรียมตัว  ที่อ่านเมื่อสอบเสร็จ เพราะจะได้ประเมินตนเองว่ายังต้องมีข้อบกพร่องประการใดในการศึกษากฎหมายหรือ ไม่  เพื่อจะได้นำข้อบกพร่องนั้นเป็นบทเรียน  และพยายามแก้ไขปรับปรุงในการเรียนต่อไป
ในการกล่าวถึงการศึกษากฎหมายนี้  ขอแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
(๑) วิธีการศึกษากฎหมาย
(๒) วิธีการตอบข้อสอบกฎหมาย 
ส่วน ที่ ๑  วิธีการศึกษากฎหมาย
        การเรียนกฎหมายนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เหตุที่ว่ายากก็เพราะกฎหมายเป็นนามธรรม ไม่สามารถจะชั่ง ตวงวัด เป็นกรัมเป็นลิตรหรือเป็นเมตรได้ จึงไม่ทราบว่ากว้างหรือแคบเท่าใดต้องถกเถียงกันนานกว่าจะหาข้อยุติได้ บางทีเถียงกันตั้งนานก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เช่น แค่ไหนเพียงใดเรียกว่า "ยุติธรรม" ส่วนเหตุที่ว่าง่ายก็เพราะกฎหมายนั้นต้องยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นสามัญสำนึก ผู้ใดมีสามัญสำนึก ผู้นั้นก็เรียนกฎหมายได้
๑. เรามีความเหมาะสมที่จะเรียนกฎหมายมากน้อยเพียงใด ?
มีปัญหาว่า ตัวเราเองจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเรียนกฎหมายได้ และรู้กฎหมายแล้วหรือยัง วิธีการหนึ่งที่จะตอบปัญหาดังกล่าวได้ คือ
(๑) ใครที่อ่านกฎหมายแล้วบอกว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย คนนั้นเรียนกฎหมายไม่ได้
(๒) ใครอ่านกฎหมายแล้วบอกว่าไม่รู้เรื่อง คนนั้นเรียนกฎหมายได้ และหากอ่านต่อไปแล้วบอกว่า กฎหมายนั้นยาก คนนั้นก็เริ่มจะเข้าใจกฎหมายแล้ว นอกจากนั้น ถ้าอ่านกฎหมายแล้วเห็นว่ากฎหมายยากขึ้นเท่าใด ก็แสดงว่ารู้กฎหมายมากขึ้นเท่านั้น และท้ายที่สุด หากอ่านกฎหมายแล้วบอกว่า ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย คนนั้นรู้กฎหมายอย่างรู้แจ้งแท้จริงแล้ว
         อย่างไรก็ดี ในการเรียนกฎหมายนั้น ผู้เรียนต้องทราบถึงวิธีการเรียนกฎหมายว่ามีอยู่อย่างไร เปรียบเสมือนดังการว่ายน้ำ ซึ่งทุกคนที่ฝึกหัดว่ายน้ำเพียงเล็กน้อยก็ว่ายน้ำได้ แต่การจะว่ายน้ำได้เร็ว ว่ายได้นานและประหยัดกำลัง ต้องรู้วิธีการว่ายน้ำ ซึ่งต้องใช้การศึกษา การเรียนกฎหมายก็เช่นกัน ผู้เรียนคนใดรู้จักวิธีการเรียนก็ย่อมจะเรียนได้ โดยมีความรู้และสามารถสอบผ่านการวัดผลได้คะแนนในระดับดี
๒. การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างจากการเรียนในระดับมัธยมศึกษาอย่าง ไร ?
เมื่อตอนที่เราเรียนในระดับมัธยม  ครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้  จะมองนักเรียนเป็นเด็ก  จึงต้องมีการควบคุมค่อนข้างจะมาก  ในขณะที่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย  อาจารย์จะมองนิสิตนักศึกษาว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ  ดังนั้น  สมัยมัธยม  ครูจะเข้ามาควบคุมการศึกษาค่อนข้างจะใกล้ชิด  นักเรียนมีปัญหา  ครูจะเข้ามาถามไถ่  แต่เมื่อมาศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จะมีความแตกต่างกัน โดยนิสิตนักศึกษาที่มีปัญหาต้องเข้าพบเพื่อขอรับคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ ปรึกษาหรืออาจารย์ผู้สอน
การ เรียนกฎหมายนั้น ในเบื้องต้นนิสิตจะต้องจำ (ไม่ใช่สักแต่ท่อง) หลักเกณฑ์พื้นฐานทางกฎหมาย "การจำ" นี้เป็นการจำพร้อมกับทำความเข้าใจสิ่งที่จำ นอกจากนี้ เมื่อจำได้ต่อไปก็ต้องรู้จักหัดคิด ไม่ใช่รับเอาแต่คำสอนของอาจารย์หรือตำราไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง โดยไม่มีความคิดเห็นของตนเอง ผู้เรียนจะต้องพยายามคิดอยู่เสมอว่าเพราะเหตุใดอาจารย์หรือตำราจึงสอนหรือ เขียนไว้เช่นนั้น ผู้เรียนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผู้เรียนเองมีความเห็นของตนเองอย่างไร
นอกจากนี้ การศึกษากฎหมายเป็นวิชาที่เกี่ยวกับความคิด ไม่ใช่วิชาที่เกี่ยวกับสิ่งที่มีรูปร่างเหมือนการก่อสร้าง การต่อเรือ เช่นนี้ การศึกษากฎหมายต้องอาศัยการเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียนประกอบกับ ค้นคว้าโดยการอ่านจากตำรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้เพียงพอในการพัฒนาความคิดในทางกฎหมายให้ได้อย่างมี เหตุผล 
ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางกฎหมายได้ให้หลักสำคัญในการเรียนกฎหมายให้สำเร็จไว้ 3 ประการ [1]
1.      ต้องมีความจำ หมายความว่า ผู้เรียนต้องมีความจำในตัวบทกฎหมาย
2.      ต้องมีความเข้าใจ หมายความว่า ลำพังแต่ความจำอย่างเดียว โดยผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายของถ้อยคำ ในตัวบทกฎหมายย่อมไม่เป็นการเพียงพอ ผู้เรียนจะต้องเข้าใจความหมายของถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมายด้วย ถ้อยคำบางคำก็เป็นภาษาธรรมดา บางคำก็เป็นภาษากฎหมายบางคำก็เป็นภาษาในทางวิชาการ
3.      ต้องสามารถนำตัวบทกฎหมายไปใช้ได้ถูกต้อง มีความหมาย 2 ประการ คือ ประการแรก ผู้เรียนสามารถตอบปัญหาในการสอบวัดผลในการศึกษาได้ถูกต้อง เพราะผู้เรียนเข้าใจตัวบทกฎหมายดีอยู่แล้ว ประการที่สอง ผู้เรียน สามารถนำความรู้ในทางกฎหมายไปใช้แก่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าได้ 
3. การเสริมสร้างปณิธานในการศึกษากฎหมายให้สำเร็จ
การเรียนกฎหมายก็เหมือนกับการเรียนวิชาอื่น ที่ผู้เรียนจะต้องตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่เสียก่อนว่า ความสำเร็จในการศึกษานั้น ก็คือ ความปรารถนาอันแรงกล้าของตน ถ้าขาดเสียซึ่งปณิธานนี้แล้ว ก็อาจจะเป็นการยากที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดี แม้แต่จะเรียนให้ผ่านการสอบวัดผลก็เป็นการยาก
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ให้หลักสำคัญในการตั้งปณิธานให้แน่วแน่ว่าควรใช้อิทธิบาท 4 ในพระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ [2]
1.      ฉันทะ คือความรักใคร่ ผู้เรียนต้องมีความรักในวิชาที่เรียน ถ้ายังไม่มีก็ต้องปลูกให้รักขึ้นให้ได้ ผู้เรียนอาจจะเรียน กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่รู้เรื่องจริง ๆ แต่ถ้าผู้เรียนหวังจะสอบกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ผ่าน ต้องปลูกให้รักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยหลับตาให้เห็นภาพว่า เมื่อเกิดมีคดีความเกิดขึ้น เริ่มต้นจะต้องยื่นฟ้องอย่างนั้น ฟ้องแย้งเป็นอย่างนั้น ฟ้องแย้งอะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ ให้เห็นภาพจนกระทั่งศาลตัดสินบังคับคดีให้เป็นเรื่องเป็นราว น่าสนุก น่าสนใจ เช่นนี้ เป็นการปลูกฝังให้มีความรัก ถ้าผู้เรียนหวังจะเรียนให้สำเร็จ ผู้เรียนจะไม่ชอบเรียนไม่ได้
2.      วิริยะ คือความพากเพียร ผู้เรียนจะรักเรียนวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วไม่ดูหนังสือเลยก็ย่อม สอบไม่ผ่าน ฉะนั้นเมื่อรักจะเรียนก็ต้องขยันพากเพียรอ่านหนังสือ ค้นคว้าตำรับตำราต่าง ๆ ประกอบด้วย
3.      จิตตะ คือ ต้องเอาใจจดจ่อกับวิชานั้น จิตใจของผู้เรียน ผู้เรียนต้องบังคับให้จดจ่อกับวิชาที่เรียนนั้น ไม่ใช่ว่ากำลังนั่งเรียนหนังสืออยู่ แต่ใจไปอยู่ที่สยามสแควร์
4.      วิมังสา คือ ต้องมีการทบทวนไตร่ตรองกลับไปกลับมาในวิชาที่เล่าเรียนศึกษาไม่ใช่เรียนผ่าน ไปแล้วก็แล้วกันไป
อย่าง ไรก็ตาม การตั้งปณิธานในการศึกษานั้น แม้จะต้องไว้ในสิ่งที่สูงสุดเอื้อม เช่น หวังจะเรียนให้สำเร็จได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ผู้เรียนก็ต้องเตรียมเผื่อใจไว้ด้วยว่าอาจจะพลาดหวัง เมื่อพลาดหวังจะได้ไม่เสียใจมากเกินไป การตั้งปณิธานในสิ่งที่สูงไว้ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เพราะถ้าไม่ได้สิ่งนั้นก็อาจได้สิ่งอื่นตามมา เช่น ตั้งปณิธานจะเรียนให้สำเร็จได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง  แม้พลาดหวังไม่ได้เหรียญทอง  เพราะมีอยู่เพียงเหรียญเดียว  แต่คะแนนเฉลี่ยก็อยู่ในเกณฑ์ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอยู่ หรือถ้าพลาดหวังอีกก็อาจจะได้เกียรตินิยมอันดับสอง แต่หากตั้งปณิธานไว้ต่ำ ๆ ก็อาจจะเกิดผลเสียได้ เช่น ตั้งปณิธานว่าจะเรียนเพียงขอให้จบนิติศาสตรบัณฑิต ก็พอ ถ้าไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ผลก็คือเรียนไม่จบ

4. การใช้ชีวิตในการเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัย
การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ใช่ว่าจะมีจุดมุ่งหมายแต่เพียงให้ผู้เรียนได้รับปริญญาเท่านั้น หากแต่ผู้เรียนจะต้องใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยสร้างอุดมคติ สร้างความหวัง เพาะบุคลิกภาพของนิสิต และเสาะแสวงหาเพื่อนที่ดีมีความจริงใจ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นสั้น มีเพียงครั้งเดียวผ่านไปแล้วผ่านไปเลย เรียกคืนกลับมาไม่ได้ เหมือนกับกระแสน้ำที่ไหลไปแล้วไม่หวนคืนกลับ
มหาวิทยาลัยมีความรู้ให้ผู้เรียนเข้ามาแสวงหา ความรู้นั้นไม่ได้มีอยู่แต่ในห้องเรียน นอกห้องเรียนก็มีความรู้ให้เรียนรู้ได้อย่างไม่มีวันจบ มหาวิทยาลัยมีสิ่งที่สำคัญที่ผู้เข้ามาเรียนน่าที่จะพิจารณาแสวงหาให้ได้สอง สิ่งนี้ประกอบกันคือ   "การเรียน" กับ "กิจกรรม" ดังคำกล่าว ที่ว่า "ความรู้คู่กิจกรรม" กล่าวคือ มหาวิทยาลัยนอกจากให้ความรู้ทางวิชาการแก่ผู้เรียนแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีกิจกรรมหลากหลาย ที่สอนให้ผู้เรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตให้รอดในสังคม ดังมีคำกล่าวว่า "มหาลัยชีวิต" มหาวิทยาลัยเปรียบดังสังคมจำลองที่ให้ผู้เรียน ได้เข้ามาแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ชีวิต เพื่อจะได้ก้าวเผชิญโลกภายนอกได้อย่างมั่นใจ ดังนั้น นอกจากจะต้องเรียนหนังสือแล้ว ผู้เรียนควรหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยด้วย กิจกรรมนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมทางด้านกีฬา เป็นต้น
ตัวอย่างที่หนึ่งที่จะยกให้ พิจารณาต่อไปนี้ จะเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ในการที่จะดำรง ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างไม่ให้ใครมาคอยเอาเปรียบได้ กล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจำลองการเมืองในระดับประเทศมาให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม คือ ในระดับประเทศ มีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน โดยมีรัฐสภาเป็นผู้คอยควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นิสิตปกครองบริหารงานบางส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมของนิสิตเอง โดยมีองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี และมีสภานิสิตซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของนิสิตจากทุกคณะ ทำหน้าที่คล้ายรัฐสภา คอยควบคุมการทำงานของ อบจ. เหตุเกิดที่สภานิสิตนี้เอง โดยสภานิสิตจะต้องมีการเลือกสมาชิกสภานิสิตหนึ่งคนขึ้นเป็นประธานสภานิสิต ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญมีผู้หวังเก้าอี้ตัวนี้จำนวนมากพอสมควร ครั้งหนึ่งมีผู้ที่คาดว่าจะได้รับการเลือกประธานสภานิสิตได้ตกลงกันว่าจะ ปล่อยให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระ จะไม่มีการหาเสียงไม่มีการเข้าไปชักชวนให้สินน้ำใจตอบแทน แต่ในความเป็นจริงหนึ่งในสองคนนั้นได้แอบหาเสียงอย่างเป็นความลับ มีการนัดเลี้ยงอาหารแก่สมาชิกสภานิสิต ผลการลงคะแนนปรากฏว่าคนที่พาสมาชิกสภานิสิตไปเลี้ยงอาหารนั้น ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิสิต อุทาหรณ์นี้ก็เป็นเรื่องสอนใจให้รู้ว่าอำนาจ และตำแหน่งเป็นสิ่งที่ยั่วยวนใจ เพื่อนกันก็อาจไม่มีสัจจะได้ ซึ่งทุกวันนี้เราก็เห็นอยู่ในการเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการ เมืองบ่อย ๆ จนมีคำกล่าวว่า "การเมืองไม่มีมิตรและศัตรูที่ถาวร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์" เมื่อผลประโยชน์ลงตัวทุกอย่างก็ไปด้วยกันได้

ส่วนที่ 2  วิธีการตอบข้อสอบกฎหมาย

5. การตอบข้อสอบวิชากฎหมาย
ข้อ สอบที่ใช้วัดผลในทางกฎหมายนั้นส่วนมากนิยมใช้ 2 รูปแบบ คือ
1.      มีคำถามที่ให้ผู้ตอบอธิบายหลักกฎหมาย
2.      คำถามที่ตั้งเป็นตุ๊กตาให้ผู้ตอบวินิจฉัย
ก่อนที่จะพิจารณาในรายละเอียดของข้อสอบทั้งสองรูปแบบ ควรที่จะทราบถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีตอบข้อสอบกฎหมายทั่วไป ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ไว้ว่า
1.      การเขียนคำตอบนั้น ต้องเขียนในลักษณะที่ว่าผู้ตรวจข้อสอบไม่มีความรู้ในทางวิชากฎหมาย
2.      ในการตอบข้อสอบต้องใช้ถ้อยคำให้ชัดเจน อย่าใช้คำกำกวมหรือมีความหมายเป็นสองนัย
3.      การเขียนคำตอบควรเขียนให้อ่านง่ายและอย่าเขียนหวัดจนเกินไป
4.      การตอบไม่ควรจะสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป
5.      อย่าเพิ่งลงมือตอบในขณะที่จิตใจยังตื่นเต้นอยู่
6.      ต้องอ่านคำถามให้ตลอดและพยายามตรึกตรองว่าประสงค์ให้ตอบอย่างไร
7.      อย่าตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถาม
8.      ก่อนตอบควรจะบันทึกย่อ ๆ ถึงหัวข้อที่จะตอบ
9.      ต้องเลือกตอบข้อง่ายเสียก่อน
10.    ต้องระวังความคิดฉับพลันที่เกิดขึ้น ใกล้เวลาส่งคำตอบ
11.    อย่าเขียนเรื่องส่วนตัวลงในคำตอบ
ต่อ ไปจะได้พิจารณาถึงข้อสอบสองรูปแบบที่นิยมออก
ก. คำถามที่ให้ผู้ตอบอธิบายหลักกฎหมาย คำถามประเภทนี้ ตัวอย่างเช่น
1.      จงอธิบายถึงสิทธิต่าง ๆ ของทารกในครรภ์มารดาที่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคสอง
2.      หลักที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังท่านเข้าใจอย่างไร หลักนี้เป็นจริงเสมอไปหรือไม่ เพียงใด
วิธี คิดในการตอบปัญหาข้างต้น ผู้ตอบจะต้องคิดเพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้
1.      คำถามที่ถามนั้นเป็นเรื่องอะไร เช่น เรื่องสิทธิของทารกในครรภ์มารดา เรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
2.      มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติถึงเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีตัวบทกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ก็ต้องพิจารณาว่า มีหลักหรือทฤษฎีในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร
3.      ตามคำบรรยายของอาจารย์หรือตำรากฎหมายอธิบายกฎหมายหรือหลักเกณฑ์เรื่องนั้น ไว้อย่างไร มีเนื้อหาสาระ แยกพิจารณาเป็นข้อ ๆ ได้กี่ข้อ
4.      ถ้าเป็นคำถามที่ถามในลักษณะให้เปรียบเทียบความแตกต่างจะต้องยกลักษณะของแต่ ละเรื่อง แล้วชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง
5.      การยกตัวอย่างประกอบเรื่องอธิบาย เพื่อแสดงให้เห็นชัดว่าผู้ตอบข้อสอบเข้าใจเรื่องนั้นอย่างแท้จริง

ข. คำถามที่ตั้งเป็นตุ๊กตาให้ผู้ตอบวินิจฉัย
ตัวอย่างคำถามประเภทนี้ เช่น นายดำและนายแดงเป็นคนรู้จักกัน ทำงานอยู่ที่เดียวกัน ต่อมาทั้งสองได้ทะเลาะกันถึงกับขู่ฆ่าอาฆาตมาดร้ายว่าจะต้องหาทางฆ่าอีกฝ่าย ให้ได้ วันหนึ่งที่ทำงานซึ่งทั้งสองคนทำงานอยู่ได้มีการจัดสัมมนานอกสถานที่ 3 วัน บังเอิญว่าทั้งนายดำและนายแดงได้พักร่วมห้องเดียวกัน คืนหนึ่งระหว่างทั้งสองกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่นั้น นายดำได้ละเมอเอามือปิดจมูกนายแดงจนนายแดงตายคาเตียง พอนายดำรู้สึกตัวก็ตกใจมาก นายดำจึงได้มาปรึกษาท่านซึ่งเป็นเพื่อนรัก ในฐานะที่ท่านมีความรู้กฎหมาย เช่นนี้ท่านจะให้คำปรึกษาแก่นายดำว่าอย่างไร
วิธีคิดในการตอบปัญหาข้างต้น ผู้ตอบจะต้องคิดเพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้
1.      ประเด็นในคำถามเป็นเรื่องอะไร เป็นเรื่องการฆ่าผู้อื่น
2.      มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติในประเด็นเรื่องนั้นอย่างไร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งวางหลักว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด และมาตรา 59 ซึ่งวางหลักว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา ได้แก่ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
3.      ข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มาเมื่อยกมาปรับกับข้อกฎหมายใน (2) แล้ว จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร การกระทำตามโจทก์จะผิดฐานฆ่าผู้อื่น ก็ต่อเมื่อนายดำได้กระทำโดยเจตนา คือ ต้องกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ แต่กรณีข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มา นายดำทำไปโดยละเมอ จึงมิใช่กระทำโดยเจตนา นายดำจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

6. เป้าหมายของการศึกษาวิชากฎหมาย
การ เรียนการสอนวิชากฎหมายมิได้มีขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนใช้กฎหมายเพื่อเป็นช่อง ทางหรือเครื่องมือในการทำมาหากินของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่มีขึ้นเพื่อให้มีการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย ความถูกต้องเป็นธรรม และความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สังคมส่วนรวมเพื่อยังประโยชน์ และความสุขให้เกิดแก่สุจริตชนส่วนใหญ่ในสังคม เมื่อใดที่เป้าหมายของการเรียนการสอนกฎหมายดังกล่าวได้ถูกทำให้เป็นที่ ประจักษ์ชัดเจนแล้ว เป็นที่หวังว่าผู้เรียนกฎหมายจะมีบทบาทที่โดดเด่นอยู่ในสังคม ในฐานะที่เป็นผู้เสริมสร้างสังคม และเป็นที่พึ่งให้แก่สุจริตชนได้ตามเป้าหมายของการเรียนการสอนกฎหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้เรียนกฎหมายละเลยเป้าหมายของการเรียนการสอนกฎหมายดังกล่าวแล้ว โอกาสที่ผู้เรียนกฎหมายจะกลายสภาพจากการเป็นผู้ที่เป็นหลักที่พึ่งของสังคม ไปเป็นเพียงผู้ที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายทำมาหากินเลี้ยงชีวิตเลี้ยงครอบครัว ให้อยู่ดีมีสุข บนกองทุกข์ของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียวก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

7. บทส่งท้าย
ที่ กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นเพื่อประกอบความคิดของนิสิตว่า สมควรจะถือตามหรือไม่ หรือว่าสมควรปฏิบัติเป็นประการใด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะวิธีการศึกษากฎหมายเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่อาจจะวางหลักเกณฑ์กำหนดให้แน่นอนตายตัวลงไปได้ อีกทั้งวิธีการศึกษากฎหมายยังเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่มีผู้ใดจะช่วยแนะนำนิสิตได้ดีกว่าที่นิสิตจะแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุด ด้วยตัวเอง
หมายเหตุ ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน มานิตย์  จุมปา, การศึกษากฎหมายและการตอบข้อสอบกฎหมาย (สำหรับผู้เริ่มต้น), พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2548. 274 หน้า. ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ขยายความในเรื่องนี้  พร้อมตัวอย่างการตอบข้อสอบ

[1] หยุด  แสงอุทัย, การศึกษาวิชากฎหมาย,พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2546), หน้า 32.

[2] สัญญา
  ธรรมศักดิ์, ความสำเร็จในชีวิต, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2509), หน้า 9-10.

1 ความคิดเห็น:

  1. บทความที่นำมาโพสต์ไว้นี้ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังศึกษาวิชากฎหมายทั้งหลายจะได้นำไปปรับใช้

    ตอบลบ